ดั่งเทพสร้าง!กรุงเทพฯทุ่ม90ล้าน ก่อสร้างปรับปรุงเขตพระราชฐาน 904

กรุงเทพมหานครฯ จ้างก่อสร้างปรับปรุงพื้นที่เขตพระราชฐานในพระองค์ฯ 904 (ราชวิถี) ด้วยงบประมาณ 90.53 ล้านบาท โดยวิธีเฉพาะเจาะจง

SaiSeeMa
4 min readJan 12, 2021

เขตพระราชฐานคืออะไร

แม้ว่า “เขตพระราชฐาน” จะเป็นคำที่ใช้กันโดยทั่วไปในทางราชการ แต่มันกลับไม่ได้มีการนิยามที่ชัดเจนในกฎหมายฉบับใดเลย ถ้าดูความหมายจากพจนานุกรมราชบัณฑิตฯ คำว่า “ราชฐาน” แปลว่า “อาณาบริเวณที่ประทับของพระมหากษัตริย์ ใช้ว่า พระราชฐาน เช่น เขตพระราชฐาน แปรพระราชฐาน” โดยทั่วไปคำว่า เขตพระราชฐานที่ใช้กันจึงหมายถึงอาณาเขตในบริเวณพระราชวัง หรือ พื้นที่ทรงงานของพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ สำหรับพื้นที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังหรือพระตำหนัก แต่ถูกใช้งานโดยกองกิจการของพระบรมวงศนุวงศ์บางพระองค์ บางครั้งอาจมีการใช้คำว่า “เขตพระราชฐานในพระองค์ xxx” หรือ “พื้นที่ควบคุมในพระองค์ xxx” โดย xxx คือรหัสประจำพระองค์ 3 หลัก เช่น 903 หมายถึง “ทูลกระหม่อมอุบลรัตน์” 904 หมายถึง “ร.10” หรือ 905 หมายถึง “พระเทพ” ฯลฯ

อุดหนุนค่าใช้จ่ายในเขตพระราชฐาน ด้วยงบประมาณรัฐ

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง นับตั้งแต่ พรบ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ 2479 เป็นต้นมากำหนดให้ พระราชวัง เป็นทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่อยู่ในการดูแลของสำนักพระราชวังซึ่งถือเป็นส่วนราชการหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลได้มีการจัดสรรงบประมาณให้สำนักราชวังทุกปีเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในเขตพระราชฐาน รวมถึงค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงซ่อมแซมพระราชฐาน พระราชวังต่างๆ

เอกสารประกอบงบประมาณฯ ปี 2560 เล่มที่ 11 สำนักราชวัง

อุดหนุนการก่อสร้างปรับปรุงเขตพระราชฐานด้วยงบกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย

ด้วยสถานะการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน นอกจากการจัดสรรงบให้สำนักราชวังรัฐบาลยังมอบหมายให้กรมโยธาธิการฯ กระทรวงมหาดไทย รับหน้าที่สนับสนุนการก่อสร้างและปรับปรุงเขตในพระราชฐานมาตลอด(ในรายงานประจำปี 2549 ของกรมโยธาธิกาฯ อธิบายว่ารับมอบหมายงานด้านนี้มาตั้งแต่ปี 2540) แต่ในปี 2553 เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลตั้งงบประมาณกรมโยธาธิการฯ โดยแยกงบสำหรับการก่อสร้างและปรับปรุงเขตพระราชฐาน ออกมาให้เห็นชัดเจนในชื่อ “โครงการสนับสนุนกิจกรรมพิเศษหลวง” งบประมาณสำหรับโครงการนี้โดยเฉลี่ยในช่วงระหว่างปี 2553 ถึง 2559 จะอยู่ที่ประมาณไม่เกินหนึ่งพันล้านบาทต่อปี

เอกสารประกอบงบประมาณฯ ปี 2553 เล่มที่ 6 กรมโยธาธิการฯ กระทรวงมหาดไทย และ สรุปโครงการสนับสนุนกิจกรรมพิเศษหลวงโดย iLaw

ยกเลิกสถานะการเป็นส่วนราชการของ “สำนักราชวัง”

ในเดือน เมษายน 2560 รัฐบาล คสช.(นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหาร) มีการออก พรบ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ 2560 โอนกำลังพลและทรัพย์สินเดิมของ สำนักราชวัง สำนักราชเลขาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์อื่นๆไปให้ขึ้นกับ “ส่วนราชการในพระองค์” โดยกำหนดสถานะของส่วนราชการในพระองค์ ให้ไม่เป็นส่วนราชการ หรือ หน่วยงานของรัฐตามกฎหมายอื่นใด โดยให้ส่วนราชการในพระองค์เป็น นิติบุคคลที่“ขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์”

พรบ.จัดระเบียบบริหารราชการในพระองค์ 2560

ยกเลิกสถานะการเป็นสาธารณสมบัติฯของ “พระราชวัง”

และในเดือน กรกฎาคม 2560 รัฐบาล คสช. ก็มีการออก พรบ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ 2560 กำหนดให้พระราชวังซึ่งเคยเป็น “ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน” ที่เคยอยู่ในความดูแลของสำนักราชวัง ให้เป็นทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ที่ให้บริหารจัดการตามพระราชอัธยาศัย อันส่งผลให้ บรรดาพระราชวัง หรือ เขตพระราชฐาน ต่างๆถือเป็นกรรมสิทธิ์ของสถาบันกษัตริย์ ไม่ได้มีสถานะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่จะอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาลอีกต่อไป

iLaw เปรียบเทียบ พรบ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ 2560 กับ 2479

งบอุดหนุนการก่อสร้างเขตพระราชทานไม่ลดกลับเพิ่มทวีคูณ

แม้ว่าในปี 2560 ผลจากการออกฎหมายของ คสช ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ส่งผลให้สถานะของสำนักราชวังไม่เป็นส่วนราชการหรือหน่วยงานรัฐ และ พระราชวังไม่ถือเป็นสาธารณสมบัติฯอีกต่อไป แต่งบประมาณเพื่อสนับสนุนการก่อสร้างปรับปรุงเขตพระราชฐานก็หาได้ลดลง กลับตรงกันข้าม ในปี 2561 รัฐบาล คสช. ตั้งงบในส่วนนี้เพิ่มให้เกือบเท่าตัว จนทำให้รัฐบาลมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้โดยเฉลี่ยมากกว่า 2 พันล้านบาทต่อปี (ยกเว้นปี 2564 ที่ได้ปรับลดงบลงเหลือ 1.7 พันล้านบาท เนื่องจากวิกฤติโควิด-19)

งบประมาณโครงการสนับสนุนกิจกรรมพิเศษหลวง ปี 2553–64

ตั้งแต่ปี 2553 จนถึง 2564 รัฐบาลตั้งงบเป็นค่าใช้จ่ายอุดหนุนการก่อสร้างปรับปรุงในเขตพระราชทาน ไปแล้วถึง 15,439 ล้านบาท!

กรุงเทพฯทุ่ม 90 ล้านก่อสร้างปรับปรุงเขตพระราชฐาน?

กรมโยธาธิการฯ กระทรวงมหาดไทย เหมือนจะไม่ใช่หน่วยงานรัฐแห่งเดียวที่มีการใช้งบประมาณไปเพื่อสนับสนุนการก่อสร้างและปรับปรุงเขตพระราชฐาน เพราะจากข้อมูลในระบบการจัดซื้อจัดจ้างของกรุงเทพมหานคร ก็พบโครงการก่อสร้างปรับปรุงเขตพระราชฐานเช่นกัน เช่น โครงการจ้างก่อสร้างและปรับปรุงพื้นที่เขตพระราชฐานในพระองค์ 904 (ราชวิถี) โดยวิธีเฉพาะเจาะจง ซึ่งตั้งงบประมาณและประเมินราคากลางไว้ที่ 90.57 ล้านบาท

สรุปข้อมูลสาระสำคัญในสัญญา จ้างก่อสร้างปรับปรุงพื้นที่เขตพระราชฐานในพระองค์ฯ 904 (ราชวิถี) ด้วยงบประมาณ 90.53 ล้านบาท โดยวิธีเฉพาะเจาะจง

ซึ่งในโครงการดังกล่าวมีการประกาศผู้ชนะการเสนอราคาในวันที่ 21 เมษายน 2563 โดยบริษัทได้รับเลือก (เนื่องจากเป็นการจัดซื้อด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง จึงมีบริษัทเดียวที่ได้รับเชิญให้มาเสนอและต่อรองราคา) เสนอราคา 90.53 ล้านบาท เทียบกับราคาประเมิน 90.57 ล้านบาทแล้ว ราคาที่เสนอต่ำกว่าราคากลางถึง 4 หมื่นบาท!

ภาพ ประกาศผู้ชนะการเสนอราคา และ สัญญาจ้างก่อสร้างหน้าแรก

ทำไมการจัดซื้อจัดจ้างของกรุงเทพฯซึ่งมีวงเงินเกือบ 100 ล้านบาท และเป็นงานก่อสร้างทั่วไป ไม่ได้จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเฉพาะ อย่างโครงการนี้ถึงจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง ที่เรียกเอกชนแค่ 1รายมาเสนอราคา แทนที่จะใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป หรือ อย่างน้อยก็น่าจะใช้วิธีคัดเลือก (เชิญเอกชนอย่างน้อย 3 รายมาเสนอราคา) เป็นอีกประเด็นที่น่าสอบถามเพิ่มเติมจากกรุงเทพมหานคร

โดยโครงการนี้มีการเซ็นสัญญาจ้างก่อสร้างระหว่าง กทม. กับ เอกชนผู้ได้รับคัดเลือกในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 ปัจจุบัน(มกราคม 2564) มีสถานะการส่งงานครบถ้วนแล้ว

เขตพระราชฐานในพระองค์ 904(ราชวิถี)

ในเอกสารการจัดจ้างก่อสร้างปรับปรุงเขตพระราชฐาน ไม่ได้ระบุว่า “เขตพระราชฐานในพระองค์ 904(ราชวิถี)” มีตำแหน่งแห่งที่อยู่ที่ไหนแน่ชัด แต่จาก Facebook “ร้านจักรยานสุขสำราญ” ซึ่งเป็นร้านจักรยานส่วนพระองค์ 904 มีการระบุที่ตั้งว่าอยู่ใน “พื้นที่ควบคุมในพระองค์ 904” ซึ่งอยู่บนถนนราชวิถีตรงข้ามพระราชวังดุสิต และ ติดกับโรงเรียนวชิราวุธราชวิทยาลัย

แผนที่ร้านจักรยานสุขสำราญ ร้านจักรยานส่วนพระองค์ 904

และ จากการสืบค้นข่าวจะพบว่ามีการจัดงานวันเด็กแห่งชาติในเขตพระราชฐาน ราชวิถี มาหลายปี (พึ่งจะมาเว้นไปในปี 2564 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19) เมื่อดูจากอาคารรอบข้างในภาพข่าวงานวัดเด็กในเขตพระราชฐาน ราชวิถี จะพบว่า “เขตพระราชฐาน ราชวิถี” ก็คือพื้นที่เดียวกับ “พื้นที่ควบคุมในพระองค์ 904” ที่ระบุในแผนที่จาก Facebook ร้านจักรยานส่วนพระองค์นั่นเอง

งานวันเด็กแห่งชาติปี 2563 ในเขตพระราชฐานในพระองค์ ราชวิถี

และน่าจะเป็นไปได้ว่า “เขตพระราชฐานในพระองค์ 904 (ราชวิถี)” ในการจัดจ้างของกรุงเทพฯ ก็คือที่เดียวกับ “พื้นที่ควบคุมในพระองค์ 904” ซึ่งตั้งบนถนนราชวิถีนั่นเอง โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ดินรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีพื้นที่ประมาณ 125,000 ตร.ม. (~78 ไร่) มีความยาวถนนรอบพื้นที่ทุกด้านรวม 1.4 กิโลเมตร

เขตพระราชฐานในพระองค์ 904 (ราชวิถี)
ภาพบรรยากาศถนนรอบเขตพระราชฐานในพระองค์ 904 (ราชวิถี)

กรุงเทพ”ก่อสร้างปรับปรุง”อะไรในเขตพระราชฐาน 904?

โดยทั่วไปเอกสารที่เผยแพร่ตาม พรบ.ข่าวสาร ของการจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวกับการก่อสร้างในเขตพระราชฐาน มักจะไม่มีข้อมูลรายละเอียดว่าก่อสร้างหรือปรับปรุงอะไร ราคากลางส่วนใหญ่จะเปิดเผยแค่หน้าสรุปราคา ส่วนรายการ BOQ(Bill of Quantities) มักจะไปอยู่ในเอกสารแนบที่ไม่ได้มีการเผยแพร่ทางเว็บไซท์ ทำให้การตรวจสอบข้อมูลในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการเหล่านี้ทำได้ยาก ต้องขอชมเชย กทม ที่ในโครงการก่อสร้างปรับปรุงเขตพระราชฐานมูลค่า 90 ล้านดังกล่าว นี้มีการเปิดเผยข้อมูล BOQ โดยละเอียด ทำให้ทราบว่าการ “ก่อสร้างปรับปรุง” ในทีนี้กล่าวโดยสรุปก็คือการ ทุบถนนเก่าทิ้ง เพื่อสร้างถนนใหม่ทดแทน รวมไปถึง ระบบระบายน้ำ และ เสาไฟฟ้าส่องสว่างตลอดแนวถนนด้วยที่ถูกรื้อทิ้งแล้วสร้างใหม่ทั้งหมด

โดยหลักสามารถแบ่งงานได้เป็น 2 ส่วนคือ

1 . งานทุบถนนเก่า งบประมาณ 4.5 ล้านบาท ประกอบด้วยรื้อถอนและขนย้ายเศษวัสดุดังต่อไปนี้

  • รื้อถอนถนน พื้นที่รวม 2.4 หมื่นตร.ม. งบประมาณ 2.6 ล้านบาท
  • รื้อถอนระบบระบายน้ำ ท่อระบายน้ำ และ รางระบายน้ำ 4.8 กม. และ บ่อพักระบายน้ำ 300 บ่อ งบประมาณ 1.8 ล้านบาท
  • รื้อถอนเสาไฟฟ้าส่องสว่าง สูง 6 ม. จำนวน 120 ชุด งบประมาณ 6 หมื่นบาท
BOQ งานรื้อถอนถนน,ท่อระบายน้ำและไฟฟ้าส่องสว่างเก่า และ BOQ งานก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กใหม่ (ราคาประเมินต้องคูณค่า K 1.2040)

แม้ใน BOQ จะไม่ได้บอกขนาดและความยาวของถนนเดิมที่ถูกรื้อถอน แต่จากความยาวท่อระบายน้ำ พอจะสามารถประเมินได้อย่างคราวๆ เนื่องจากปกติถนนต้องมีท่อระบายน้ำอยู่ทั้ง 2 ด้านเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำท่วมขังพื้นถนน ดังนั้นถ้าท่อระบายน้ำ 2 ข้างถนนมีความยาวรวม 4.8 กิโลเมตร ถนนเดิมก็น่าจะมีความยาว 2.4 กิโลเมตร และเป็นถนนขนาดกว้าง 10 เมตร

BOQ งานก่อสร้างระบบระบายน้ำใหม่ (ราคาประเมินต้องคูณค่า K 1.2040)

2. งานสร้างถนนใหม่ งบประมาณ 84.6 ล้านบาท ก่อสร้าง และ ติดตั้ง เพื่อทดแทนของเดิมที่ได้รื้อถอนไปดังต่อไปนี้

  • ก่อสร้างถนนใหม่ เป็น ถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ผิวทางแอสฟัลด์ 2 หมื่นตร.ม. งบประมาณ 47.7 ล้านบาท
  • ก่อสร้างระบายน้ำใหม่ เป็น ท่อระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดตั้งแต่ 0.4 จนถึง 1.2 เมตร ความยาวรวม 4.52 กิโลเมตร พร้อมบ่อพัก ตลอดแนวถนน งบประมาณ 26.7 ล้านบาท
  • ติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่างใหม่ เป็น แบบหลอด LED 175 ชุด พร้อมเดินสายไฟฟ้าใต้ดินตลอดแนวถนน งบประมาณ 10.2 ล้านบาท
BOQ งานติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างใหม่

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าถนนความยาวประมาณ 2 กิโลเมตร มีพื้นที่ผิวถนน 2 หมื่น ตร.ม. ที่ถูก “ก่อสร้างปรับปรุง” ทุบทิ้งเพื่อสร้างใหม่นั้น อยู่ตรงส่วนไหนในเขตพระราชฐาน 904 ราชวิถี ซึ่งมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1.25 แสนตร.ม. มีความยาวรอบที่ดินแค่ 1.4 กิโลเมตร หรือเป็นถนนสาธารณะทางเข้าหรือรอบนอกเขตพระราชฐาน ราชวิถี(ได้แก่ ถนนราชวิถี,ถนนสุโขทัน,ถนนพิชัย และ ถนนนครราชสีมา) แต่พื้นที่ดังกล่าวก็ไม่ได้มีถนนทางเข้าที่มีความยาวขนาดนั้น

ไม่ว่าถนนดังกล่าวจะอยู่ข้างในหรือข้างนอกเขตพระราชฐาน ก็น่าตั้งคำถามว่ามีความจำเป็นอะไรที่ต้องทุ่มงบประมาณกว่า 90 ล้านบาทไปเพื่อการทุบถนนเก่าแล้วสร้างถนนใหม่ หรือเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจตามแนวสำนักเคนส์ ที่ว่าถ้าไม่รู้จะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรก็แค่จ้างให้คนมาขุดหลุมแล้วถมกลับให้เหมือนเดิมก็ถือว่ามีประโยชน์แล้ว

อ้างอิง

บางส่วนของเอกสาร ราคากลาง

--

--