จดหมายน้อยฝากตำรวจ ภาคแรก:“ดิเรกฤทธิ์ ”-เลขาฯศาลปกครอง รอด!?

SaiSeeMa
3 min readOct 13, 2023

--

เรื่องอื้อฉาวที่สุดของ ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมัยเป็นเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง (“เลขาศาลปกครอง”) ก็คือการเขียนจดหมายไม่เป็นทางการถึง ผบ.ตร. เพื่อขอให้สนับสนุนนายตำรวจคนหนึ่งเป็นผู้กำกับ หรือที่เรียกกันว่ากรณี “จดหมายน้อยฝากตำรวจ” ซึ่งที่เป็นข่าวคือภาพหลักฐาน “จดหมายน้อย” 2 ฉบับ

  • ฉบับแรกเขียนเมื่อ ต.ค. 56 ถึง รองผบ.ตร.(เอก อังสนานนท์) อ้างถึงความประสงค์ของประธานศาลปกครองสูงสุดในขณะนั้น ( หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ) ที่ต้องการสนับสนุน พ.ต.ท. คนหนึ่งซึ่งสนิทกับหลานและได้มาช่วยงานที่ศาลปกครองให้เป็นผู้กำกับ จึงขอรองผบ.ตร.ให้ช่วยแนะนำว่าต้องทำอย่างไร
  • ฉบับที่สองเขียนถึง ผบ.ตร. (อดุลย์ แสงสิงแก้ว) ขอรับการสนับสนุนแต่งตั้ง พ.ต.ท. คนเดิมให้เป็นผู้กำกับ โดยอ้างว่าเป็นคำขอของ ประธานศาลปกครองสูงสุด เนื่องจาก พ.ต.ท. คนนี้เป็นเพื่อนสนิทกับหลานชาย และได้มาช่วยงานประธานศาลปกครองฯหลายครั้ง โดยฉบับนี้เขียนลงบนกระดาษที่มีลักษณะเป็นทางการกว่าฉบับแรก ท้ายกระดาษมีโลโก้ศาลปครองพร้อมระบุชื่อ และตำแหน่งเลขาศาลปกครองฯ มีการระบุชื่อ นามสกุล และตำแหน่ง ก่อนเซ็นชื่อกำกับ

หลังกรณี “จดหมายน้อย” เป็นข่าวอื้อฉาวเมื่อมีการแชร์ภาพจดหมายน้อยทั้ง 2 ฉบับในช่วงแรกเดือน เม.ย. 57 ดิเรกฤทธิ์ ได้ให้สัมภาษณ์กับสนข.อิศรา รับว่าทำจดหมายจริง และก่อนทำก็ได้แจ้งประธานศาลปกครองฯทราบด้วย แต่เห็นว่าเป็นแค่ “จดหมายน้อย” ที่ไม่เป็นทางการชื่นชมการปฏิบัติงานของนายตำรวจ ให้ต้นสังกัดรับทราบ ไม่ได้ใช้อำนาจแทรกแซงการแต่งตั้งอะไร ตำรวจหลายคนก็ทำกันเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายอะไร

“ผมได้ทำจดหมายน้อยไปแจ้งสนับสนุน พ.ต.ท.xxx จริง และก่อนดำเนินการได้มีการเรียนให้ท่านประธานศาลปกครองสูงสุดรับทราบด้วย เพราะเห็นว่า พ.ต.ท.xxx เข้ามาช่วยงานราชการหลายครั้ง โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ที่ไม่ปกติแบบนี้ ซึ่งเราต้องการคนที่ไว้ใจได้เข้ามาช่วยงาน ไม่ใช่ใครก็ไม่รู้ และมาแทงข้างหลังเราในภายหลัง”

“พ.ต.ท.xxx เป็นเพื่อนของหลานท่านประธานศาลปกครองสูงสุด ทางเราก็ชื่นชมการทำหน้าที่ของเขา จึงได้แจ้งเรื่องไปที่หน่วยงานของเขาให้รับทราบไว้พิจารณา ประกอบการเลื่อนตำแหน่งในอนาคตเท่านั้น ไม่ได้เป็นการแทรกแซง หรือใช้อำนาจอะไรไปบังคับให้ทำตาม”

“บันทึกที่ผมทำไปก็ไม่ได้เป็นหนังสื่อราชการเป็นทางการ ทำเหมือนเป็นจดหมายน้อยไป ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าจะต้องทำให้ได้นะ ต้องทำในช่วงเวลานั้นเวลานี้ ซึ่งกรณีแบบนี้ เท่าที่ทราบตำรวจหลายคนก็ทำกันอยู่เป็นปกติ ไม่ได้เป็นเรื่องผิดกฎหมายอะไร”

“เราชื่นชมเขา เพราะเขาทำงานดี เมื่อเขามาช่วยเรา เราก็แค่ทำหนังสือไปช่วยการันตีผลงานให้เท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้ผมก็เพิ่งทำเป็นครั้งแรก แต่ถ้ามันจะผิดผมก็ยอมรับ ว่ากันตรงไปตรงมา แต่ไม่อยากให้ใครนำเรื่องนี้ไปเชื่อมโยงเป็นเรื่องการเมือง หรือไปเปรียบเทียบกับกรณีการโยกย้ายตำแหน่งของคุณถวิล ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน ไม่ถูกต้องเลย”

พอสนข.อิศรา ลงข่าวคำให้สัมภาษณ์ว่าประธานศาลรับทราบเรื่องนี้ด้วย ยิ่งทำให้เกิดกระแสวิจารณ์หัสวุฒิ ประธานศาลปกครองฯ ซึ่งก่อนหน้านั้นในการปฏิบัติหน้าที่ประธานศาลปกครองฯก็มีหลายเรื่องที่โดนวิจารณ์อย่างหนักมาก่อนแล้ว จนในที่สุดปลายเดือน เม.ย. 57 หัสวุฒิ ต้องตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ซึ่งฟังแล้วก็รู้สึกแปลกๆเพราะ เรื่องคือ “จดหมายน้อย” ที่เลขาศาลปกครองอ้างว่าประธานศาลปกครองซึ่งก็คือตัวหัสวุฒิเอง ต้องการสนับสนุน “ฝาก” ตำรวจให้เป็นผู้กำกับ ซึ่งมันก็เหมือนว่าตัวเองตั้งคณะกรรมการมาสอบตัวเอง

หลังจากนั้น กลางเดือน พ.ค. 57 หัสวุฒิ ก็มีคำสั่งย้ายดิเรกฤทธิ์ ให้พักการทำหน้าที่เลขาศาลปกครองฯระหว่างที่มีการสอบสวนเรื่องนี้ ซึ่งเมื่อคณะกรรมการที่หัสวุฒิตั้งขึ้นมาเองเพื่อสอบสวนเรื่องอื้อฉาวที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง ย่อมถูกสังคมกังขาถึงความน่าเชื่อถือ เริ่มมีข่าวว่าผลสอบจะออกมาว่า ดิเรกฤทธิ์ เลขาศาลปกครองทำผิดคนเดียว ส่วนหัสวุฒิ ประธานศาลฯไม่ได้เกี่ยวข้อง เพราะเริ่มมีข่าวว่าในการให้ข้อเท็จจริงดิเรกฤทธิ์ให้ข้อมูลกับคณะกรรมการสอบสวนว่าการเขียน “จดหมายน้อย” นั้นตัวเองทำเพียงลำพังไม่เกี่ยวกับหัสวุฒิ ซึ่งขัดกับเนื้อหาในจดหมาย และการให้สัมภาษณ์กับ สนข.อิศรา ซึ่งดิเรกฤทธิ์อ้างว่าไม่ได้พูดอย่างนั้น สนข.อิศรา แต่งเรื่องขึ้นเอง แม้ผู้สื่อข่าวจะไปให้ข้อมูลกับคณะกรรมการสอบสวนว่าดิเรกฤทธิ์เขียนข่าวตามที่ดิเรกฤทธิ์ให้สัมภาษณ์ก็ตาม สนข.อิศราตั้งข้อสงสัยถึงกระบวนการสอบสวนในหลายประเด็น โดยคาดว่าหรืองานนี้ ดิเรกฤทธิ์ จะยอมโดนตัดตอนตายเดี่ยวเพื่อปกป้องนาย? เพื่อให้ หัสวุฒิยังสามารถเป็นประธานศาลปกครองฯต่อได้ ซึ่งก็จะสามารถใช้อำนาจของประธานศาล ที่เป็นประธานคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง(ก.ขป.) ซึ่งมีอำนาจกำหนดบทลงโทษข้าราชการในศาลปกครองที่ทำผิด ได้ช่วยผ่อนหนักเป็นเบา ไม่ต้องถูกลงโทษถึงขึ้นปลดออกหรือไล่ออกหรือไม่?

การคาดการณ์ของ สนข.อิศรา ก็ชักเริ่มเข้าเค้าเมื่อกลางเดือน ก.ค.57 หัสวุฒิ ก็มีคำสั่งให้ดิเรกฤทธิ์กลับมาทำหน้าที่เลขาศาลปกครองเหมือนเดิมทั้งที่ยังไม่ได้ข้อสรุปจากคณะกรรมการสอบสวน โดยอ้างว่าแม้ผลสอบจะยังไม่สรุป แต่กระวบการสอบข้อเท็จจริงเสร็จแล้ว ตอนนี้เป็นสถานการณ์พิเศษ(หลังการยึดอำนาจ คสช) ศาลปกครองต้องเดินหน้า ประชาชนรอไม่ได้ …เอ้ย ไม่ใช่ … หัสวุฒิเห็นว่า “ภารกิจของสำนักงานศาลปกครองจำเป็นที่ต้องมีการสั่งการและกำกับดูแลในเชิงนโยบาย และพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่องใกล้ชิดภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน”

ในที่สุดอีกเดือนถัดไปผลสอบก็เป็นอย่างที่ สนข.อิศราคาดไว้ ส.ค. 57 ศาลปกครองมีการเผยแพร่ใบแถลงข่าวผลการสอบสวน กรณี “จดหมายน้อย” โดยสรุปว่า การเขียน “จดหมายน้อย” ของดิเรกฤทธิ์นั้น ประธานศาลฯไม่ได้รู้เห็นด้วย โดยเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามจริยธรรมข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง จะเป็นการผิดวินัยแต่ไม่ร้ายแรง จึงลงโทษแค่ภาคทัณฑ์ และเนื่องจากพักการปฏิบัติหน้าที่มาแล้ว อีกทั้งไม่ปรากฎความเสียหายกับศาลปกครองและสำนังานตำรวจ จึงงดโทษภาคทัณฑ์เหลือเพียงการทำจดหมายตักเตือน

“การกระทำของเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามจริยธรรมข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง โดยมีมูลอันควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย และการกระทำดังกล่าวยังไม่อาจรับฟังได้ว่า ได้รับมอบหมายหรือรู้เห็นเป็นใจจากประธานศาลปกครองสูงสุด”

“พิจารณารายงานการสืบสวนข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง เห็นควรลงโทษภาคทัณฑ์ แต่เนื่องจากนายดิเรกฤทธิ์ ได้ถูกพักงานแล้วเป็นเวลา 2 เดือน และไม่ปรากฏความเสียหายในรูปธรรมที่สำนักงานศาลปกครอง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงได้งดโทษภาคทัณฑ์และให้ว่ากล่าวตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร โดยให้นายดิเรกฤทธิ์ พึงระมัดระวังในการรักษาชื่อเสียง ภาพลักษณ์ และเกียรติภูมิของสำนักงานศาลปกครอง และศาลปกครอง รวมทั้งรักษาชื่อเสียงของตน และเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนมิให้เสื่อมเสีย ตลอดจนไม่อาศัยหรือยอมให้ผู้อื่นอาศัยตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนหาประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น โดยปฏิบัติอยู่ในกรอบของจริยธรรม ระเบียบแบบแผนของทางราชการ และวินัยที่กำหนดอย่างเคร่งครัดอยู่เสมอ”

หลังการสอบสวนสิ้นสุด ดิเรกฤทธิ์กลับมาปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเลขาศาลปกครองต่อท่ามกลางเสียงวิจารณ์อื้ออึง โดยเฉพาะจากคนในองค์กรศาลปกครองเอง ดิเรกฤทธิ์ ก็ทำการฟ้องร้อง สนข.อิศรา ในข้อหาหมิ่นประมาทฯ และ พรบ.คอมฯ จากการที่ สนข.อิศรา ลงข่าวเสียงวิจารณ์ในแวดวงศาลปกครองต่อกรณี “จดหมายน้อย”ของดิเรกฤทธิ์ว่าน่าจะเข้าข่ายผิดวินัยร้ายแรงด้วย ไม่ใช่แค่โทษเบาหวิวอย่างการภาคทัณฑ์ว่ากล่าวตักเตือน ซึ่งดิเรกฤทธิ์ได้ไปฟ้องศาลแพ่งเรียกค่าเสียหายด้วย และได้ขอให้ศาลแพ่งคุ้มครองชั่วคราวให้ สนข.อิศรา ถอดบทความ “ตุลาการ โวย สนง.ศาลปกครอง แถลงบิดเบือนผลสอบ จม.น้อยฝาก ตร.” ออกจากเว็บไซท์ด้วย จึงทำให้ปัจจุบันไม่สามารถเข้าถึงได้แล้ว ซึ่งปลายปี 2557 ศาลอาญาได้ยกฟ้องในคดีหมิ่นประมาท และ พรบ.คอมฯ โดยศาลเห็นว่า สื่อมีสิทธิ์วิจารณ์แสดงความไม่เห็นด้วยกับผลการพิจารณาโทษให้ประชาชนได้รู้ ซึ่งเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริต ย่อมกระทำได้ตามกฎหมาย

โดยในคำพิพากษายกฟ้องฉบับเต็ม ศาลให้เหตุผลว่าการกระทำของดิเรกฤทธิ์ “เป็นสิ่งที่วิญญูชนทั่วไปย่อมตำหนิติเตียน” ยิ่งกระทำในขณะดำรงตำแหน่งเลขาศาลปกครองฯ ยิ่งถูกสังคมตำหนิติเตียนหนักขึ้น และสร้างความเสื่อมเสียแก่สำนักงานศาลปกครอง ซึ่งเป็นการกระทำผิดวินัยจริง ส่วนการลงข่าวของ สนข.อิศรานั้นเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ฯ และเนื้อหาที่เผยแพร่ก็นำมาจากประกาศของศาลปกครองเองไม่ได้เป็นการเสนอข่าวเท็จใส่ความให้เสียหาย จึงให้ยกฟ้อง

“ผลการสืบสวน คณะกรรมการวินิจฉัยว่า การกระทำในลักษณะเช่นว่านั้นของโจทก์ไม่ว่าจะทำลงโดยผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองหรือผู้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ราชการเทียบเท่ากับเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองตำแหน่งใด และไม่ว่าจะกระทำในช่วงเวลาใดก็ตาม เป็นสิ่งที่วิญญูชนทั่วไปย่อมตำหนิติเตียนทั้งนั้น และยิ่งโจทก์เป็นผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ซึ่งเป็นหน่วยงานสนับสนุนการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครองและในบรรดาคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองนั้น ส่วนหนึ่งเป็นคดีพิพากษาเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล เช่นการแต่ตั้งโยกย้าย เลือนเงินเดือน การดำเนินการทางวินัย และการออกจากราชการ ซึ่งรวมถึงคดีพิพาทเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย

การกระทำของโจทก์ยิ่งถูกวิญญูชนในสังคมตำหนิติเตียนหนักขึ้น และเห็นว่าการกระทำของโจทก์เป็นการกระทำที่นำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่สำนักงานศาลปกครอง และเสื่อมเสียต่อศาลปกครองในฐานะที่สำนักงานเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในงานธุรการของศาลปกครอง เข้าข่ายมีมูลอันควรกล่าวหาว่าโจทก์กระทำการในเสื่อมเสียต่อชื่อเสียง ภาพลักษณ์ และเกียรติภูมิ ของสำนักงานศาลปกครอง อันเป็นการฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมตามข้อ 10(3) ของระเบียบคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายปกครองว่าด้วยประมวลจริยธรรมของเจ้าหน้าที่สำนักงานศาลปกครอง พ.ศ.2555 ซึ่งข้อ 24 ของระเบียนดังกล่าวให้ถือว่า เป็นการกระทำผิดทางวินัย และโดยที่ระเบียบคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายปกครองว่าด้วยประมวลจริยธรรมของเจ้าหน้าที่สำนักงานศาลปกครอง พ.ศ.2555 ถือเป็นระเบียบแบบแผนของทางราชการ การกระทำของโจทก์จึงเข้าข่ายเป็นกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติ ตามมาตรา 82(2) และ (10) แห่งพระราชบัญญัติระเบียนข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ทั้งยังเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามมาตรา 82(3) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย การกระทำของโจทก์จึงมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยฐานดังกล่าว”

“…การที่จำเลยทั้งสามลงโฆษณาข้อความเช่นว่านั้น กรณีถือได้ว่าจะเลยทั้งสามได้แสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(3)”

“…ข้อความดังกล่าวจำเลยทั้งสามได้นำมาจากข่าวศาลปกครอง ครั้งที่ 57/2557ตามเอกสารหมายเลข ล.๑ทั้งสิ้น ไม่ได้เป็นการเสนอข่าวอันเป็นเท็จหรือใส่ความโจทก์ให้ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด คดีโจทก์จึงไม่มีมูลให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา”

ระหว่างการพิจารณาคดีอาญาที่ดิเรกฤทธิ์ฟ้อง สนข.อิศรา ก็มีประเด็น “ดราม่า” ระหว่าง สนข.อิศรา กับ สำนักงานศาลปกครอง (ซึ่งตอนนั้นมีดิเรกฤทธิ์ เป็นเลขาธิการฯ) ในเรื่องที่ว่า สนข.อิศราต้องการขอข้อมูลการสอบสวนดิเรกฤทธิ์ฉบับเต็มเพื่อใช้ประกอบการสู้คดี แต่ทางสำนักงานศาลปกครองปฏิเสธไม่ยอมให้ข้อมูลการสอบสวน โดยอ้างว่าเป็นการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลผู้ถูกกล่าวหาโดยไม่สมควร ระบุชัดมิใช่ผู้มีส่วนได้เสีย ให้มาแค่ใบแถลงข่าวผลการสอบสวน จนทาง สนข.อิศรา ต้องไปร้อง คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ซึ่งก็ต้องรอจนถึงต้นปี 58 หลังศาลชั้นต้นตัดสินไปแล้ว กว่าที่คณะกรรมการได้มีข้อวินิจฉัยว่า สำนักงานศาลปกครองต้องเปิดเผยข้อมูลการสอบกรณี “จดหมายน้อย” แก่สนข.อิศรา เพราะไม่ใช่เรื่องการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลโดยไม่สมควร และเป็นประโยชน์สาธารณะ แต่ถึงมีคำวินิจฉัยมาแล้ว ดิเรกฤทธิ์ เลขาศาลปกครองฯ ก็ยังไปยื่นร้องศาลปกครองให้ทุเลาการเปิดข้อมูลตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการดังกล่าว ซึ่งคดีนี้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกคำร้อง ให้เปิดเผยข้อมูลได้ตามคำวินิจฉัย ซึ่งแม้ตอนนั้นศาลอาญาจะยกฟ้องไปแล้ว แต่ดิเรกฤทธิ์ทำการอุทธรณ์ต่อ ทำให้อย่างน้อยข้อมูลดังกล่าวจึงยังพอมีประโยชน์ในการสู้คดีของ สนข.อิศราในชั้นศาลอุทธรณ์ ซึ่งมีคำพิพากษาเมื่อปลายเดือน ส.ค. 58 ศาลอุทธรณ์ก็ได้พิพากษายืนให้ยกฟ้องตามศาลชั้นต้น โดยศาลอุทธรณ์เห็นตรงว่า ไม่มีข้อความใส่ร้าย และ สื่อมวลชนมีสิทธิ์วิจารณ์ระบายความรู้สึกที่ไม่เห็นด้วยกับผลการพิจารณาโทษโจทย์ที่เบาผิดคาดให้ประชาชนได้รู้ จึงเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริต ซึ่งไม่ใช่ข้อมูลเท็จ เนื่องจากมิใช่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริง จึงยกฟ้องทั้งเรื่องหมิ่นประมาท และ พรบ.คอมฯ

ดิเรกฤทธิ์คงจะสามารถปฏิบัติหน้าที่เลขาศาลปกครอง เช่นเดียวกับหัสวุฒิก็คงดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุดต่อไปราวกับไม่มีอะไรเกินขึ้นได้ ถ้าก่อนหน้านั้นไม่มี กลุ่มตุลาลการศาลปกครองชั้นต้น 77 คนจากทั่วประเทศ ล่ารายชื่อส่งถึงคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง(ก.ศป.)ซึ่งเป็นองค์กรกำกับที่มิได้ขึ้นกับประธานศาลปกครอง ให้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อสอบสวนประธานศาลปกครองฯในกรณีอื้อฉาวเรื่อง “จดหมายน้อย” ด้วย ซึ่งในการประชุม ก.ศป. กลางเดือน พ.ค. 57 ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนอีกชุดหนึ่งเพื่อสอบสวนหัสวุฒิในเรื่องนี้ แต่กว่าที่ ก.ศป.จะสอบสวนเสร็จก็ใช้เวลา ระหว่างนี้ทั้งหัสวุฒิ และ ดิเรกฤทธิ์ จึงกลับมามีอำนาจในตำแหน่งหน้าที่เดิมต่อไปก่อน อย่างน้อยก็อีกหลายเดือน

เรื่องจะเป็นอย่างไรต่อติดตามได้ใน จดหมายน้อยฝากตำรวจ ภาคจบ: “หัสวุฒิ” — ประธานศาลปกครองฯ

ปล. ที่กลับมาขุดเรื่อง “จดหมายน้อยฝากตำรวจ” ซึ่งผ่านมาเกือบ 10 ปีนี้ก็เพราะเห็นวันก่อน Thanapol Eawsakul โพสท์ขอโทษดิเรกฤทธิ์หลังไกล่เกลี่ยคดีหมิ่นประมาทกันจบ ซึ่งก็เป็นเรื่องเข้าใจได้ว่า คนธรรมดาทำมาหากินไม่มีใครอยากมเสียเวลาไปขึ้นโรงขึ้นศาล แต่ไม่ควรถึงขนาดต้องไปเขียนรับรองว่า “นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรมไม่ปรากฏพฤติการณ์มีกรณีทุจริตประพฤติชั่วใดๆ” ซึ่งเข้าข่ายข้อมูลเท็จแบบนี้กระมัง? เรื่องอื้อฉาวนี้ผ่านมาเกือบ 10 ปี หลายคนอาจจะไม่ทันหรือลืมไปแล้ว เลยคิดว่าน่าจะต้องเขียนบันทึกไว้หน่อย

--

--